ที่ดิน ส.ป.ก ต้องเสียภาษีที่ดินหรือไม่?
ถ้าคุณเป็นเกษตรกรที่ได้รับที่ดินจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) อาจสงสัยว่า ที่ดินที่ได้มานั้นจะต้องเสียภาษีที่ดินหรือไม่? ในเมื่อเราได้รับการจัดสรรมาจากรัฐบาลแบบฟรีๆ วันนี้ เราจะพาทุกคนไปหาคำตอบและเข้าใจกระบวนการเสียภาษีที่ดิน ส.ป.ก. กันครับ
ที่ดิน ส.ป.ก คืออะไร?
การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) หรือที่ดิน ส.ป.ก.4-01 คือ ที่ดิน ส.ป.ก. เป็นที่ดินที่รัฐจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่ไม่มีที่ทำกินเองหรือมีเพียงเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพและสถาบันการเกษตร ซึ่งการจัดสรรนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรทางดินในการผลิตเกษตร ตาม เอกสารที่แสดงการครอบครองที่ดินที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกให้กับประชาชนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518
ผู้ที่มีสิทธิในที่ดิน ส.ป.ก. มีใครบ้าง?
เกษตรกร
เป็นผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักอยู่แล้ว โดยใช้เวลาส่วนใหญ่ในรอบปี เพื่อประกอบเกษตรกรรมแห่งท้องถิ่นนั้น
ผู้ประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก
ผู้ยากจน มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/คน/ปี
จบการศึกษาทางเกษตรกรรม ไม่ต่ำกว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือเทียบเท่า
เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
สถาบันเกษตรกร
กลุ่มเกษตรกร
สหกรณ์การเกษตร
ชุมชนสหกรณ์การเกษตรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์
หากมีคุณสมบัติตามที่กำหนดดังกล่าวข้างต้น สามารถยื่นคำร้องเพื่อขอรับการจัดที่ดิน ณ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จังหวัด โดยให้จัดเตรียมเอกสารและหลักฐาน ได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน และหลักฐานการมีที่ดิน (ถ้ามี) เพื่อให้ ส.ป.ก.จังหวัด ตรวจสอบคุณสมบัติและดำเนินการจัดหาที่ดิน และจัดที่ดิน ส.ป.ก.ต่อไป
ที่ดิน ส.ป.ก. ต้องเสียภาษีหรือไม่?
โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้มีการนำที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินมาใช้หาผลประโยชน์โดยมีค่าตอบแทนทั้งการให้เช่า เช่าซื้อ และอนุญาตหรือยินยอมให้ใช้ที่ดิน ซึ่งตามสัญญาเช่า เช่าซื้อ และหนังสืออนุญาตหรือยินยอมดังกล่าวได้กำหนดให้ผู้เช่า ผู้เช่าซื้อและผู้ได้รับอนุญาตหรือยินยอมให้ใช้ที่ดิน เป็นผู้มีหน้าที่ในการชำระค่าภาษีต่าง ๆ ในระหว่างการเช่า เช่าซื้อ และได้รับอนุญาตหรือยินยอมให้ใช้ที่ดิน
เมื่อ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ มีการเรียกเก็บภาษีจากผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง อันเป็นทรัพย์สินของรัฐ กรณีที่ดิน ส.ป.ก. ถือเป็นที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของรัฐประเภทหนึ่งผู้มีหน้าที่ในการเสีย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ได้แก่
ผู้เช่า
ผู้เช่าซื้อ
ผู้ได้รับอนุญาตหรือยินยอมให้ใช้ที่ดินในฐานะผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดิน
การจ่ายภาษีที่ดิน ส.ป.ก. อัตราเท่าไหร่? ต้องชำระที่ไหน?
พรบ. ภาษีที่ดินฯ ต้องการเรียกเก็บภาษีที่ดินฯ ที่ต้องการเรียกเก็บภาษีจากผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ โดยที่ดิน ส.ป.ก.จัดเป็นที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม จึงมีเพดานภาษีงสุด 0.15% อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมูลค่า 0 – 75 ล้านบาท อัตราจัดเก็บจริง 0.01% มูลค่า 75-100 ล้านบาท ภาษี 0.03% บ้านพักอาศัย เพดานภาษี 0.3% อัตราจัดเก็บจริงมูลค่า 0-10 ล้านบาท เป็นต้น
ขั้นตอนการจ่ายภาษีที่ดิน ส.ป.ก. จะเหมือนการจ่ายภาษีที่ดินบุคคลและนิติบุคคล โดยการชำระภาษี จะเริ่มประมาณเดือนเมษายนของทุกปี แต่หากต้องจ่ายภาษีเป็นจำนวนเกิน 3,000 บาท เราสามารถใช้สิทธิ์ขอผ่อนชำระภาษีได้ 3 งวดเท่าๆ กัน โดยไม่เสียดอกเบี้ย
สถานที่ชำระภาษี สามารถชำระภาษีที่ดินได้ด้วยตัวเอง ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของพื้นที่ คือ
กรุงเทพ: ชำระภาษีที่สำนักงานเขตในพื้นที่ที่ทรัพย์สินตั้งอยู่
พัทยา: ชำระภาษีที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา
ต่างจังหวัด: ชำระภาษีที่สำนักงานเทศบาล/ที่ทำการขององค์การบริหารส่วนตำบล/ที่ทำการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีกฎหมายกำหนด หรือสถานที่อื่นที่ผู้บริหารท้องถิ่นกำหนด รวมทั้งจุดบริการเคลื่อนที่ที่ อปท. กำหนด
สรุป
แม้ว่าเป็นผู้ครอบครองที่ดินของรัฐในส่วนของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) แต่หากทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. ผู้ครอบครองนั้นต้องเป็นผู้เสียภาษีตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งหมายความว่าผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินต้องชำระภาษีที่ดินตามอัตราที่กำหนดแม้ว่าที่ดินนั้นจะเป็นของรัฐ โดยมีอัตราภาษีที่ดินเหมือนกันกับภาษีที่ดินทั่วไป และต้องดำเนินการจ่ายตามกำหนดในทุกๆ ปีด้วยนั่นเอง
ขอบคุณที่มา
https://kasetphan.com/do-alro-must-pay-tax/--------------------------------------------------------------------------------------------
โฉนดที่ดิน “3 ข้อ เข้าใจง่ายๆ ก่อนซื้อ-ขายที่ดิน”
>โฉนดที่ดิน ถือเป็นสินทรัพย์ที่สร้างเสริมมูลค่าได้ตลอดเวลา ทำให้หลายๆคนเลือกที่จะซื้อ-ขายโฉนดที่ดินเพื่อเก็งกำไร แต่ก่อนที่เราจะซื้อ-ขายโฉนดที่ดิน เราต้องรู้ก่อนว่าโฉนดที่ดินแบบใดซื้อ-ขายได้บ้าง และโฉนดมีกี่แบบ? แตกต่างกันอย่างไรบ้าง? เพื่อป้องกันข้อพิพาทหรือการฟ้องร้องกันในภายหลัง วันนี้เรารวบรวม 3 ข้อง่ายๆมาให้ทำความเข้าใจกันแล้ว…
โฉนดที่ดินมีกี่แบบ?
โฉนดที่ดินทั่วไปสามารถแบ่งได้ 4 ประเภท คือ โฉนดที่ดิน (นส. 4) หนังสือสิทธิรับรองการทำประโยชน์ (นส.3ก) หนังสือสิทธิรับรองการทำประโยชน์ (นส.3) และหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) ซึ่งแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกันในลักษณะการถือครอง การใช้ประโยชน์ และการซื้อขาย ซึ่งจะแยกย่อยลงไปอีกและมีลักษณะแตกต่างกัน
โฉนดที่ดินแต่ละแบบต่างกันอย่างไร?
โฉนดที่ดินตราครุฑสีแดง หรือ นส.4
หนังสือที่ทางราชการหรือกรมที่ดินออกให้ตามประมวลกฎหมายเพื่อเป็นการแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้ที่เป็นเจ้าของ มีระวางรูปถ่ายทางอากาศชัดเจน และมีหมุดแสดงพื้นที่ชัดเจน หากผู้ใดมีโฉนดไว้ในครอบครองก็ถือได้ว่ามีกรรมสิทธิ์ในที่ดินผืนนั้นอย่างสมบูรณ์
โฉนดที่ดินตราครุฑสีเขียว หรือ นส. 3 ก
หนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือเอกสารที่แสดงสิทธิการครอบครองเพื่อทำประโยชน์ในพื้นที่ดินนั้นๆ เป็นหนังสือที่ทางราชการออกให้เพื่อรับรองว่าเจ้าของสามารถทำประโยชน์ในพื้นที่นั้นๆได้ โดยที่ดินจะมีระวางรูปถ่ายทางอากาศชัดเจน โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ครอบครองต้องทำให้ที่ดินนั้นเกิดประโยชน์ต่างจาก นส.4 ที่สามารถปล่อยพื้นที่ทิ้งว่างได้
โฉนดที่ดินตราครุฑสีดำ หรือ นส. 3/นส. 3 ข
หนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือเอกสารที่แสดงสิทธิการครอบครองเพื่อทำประโยชน์ในพื้นที่ดินนั้นๆ เหมือนกันกับ นส. 3 ก แต่ไม่มีระวางรูปถ่ายทางอากาศ ไม่มีการวัดพื้นที่โดยละเอียด ลักษณะเป็นรูปแผนที่ลอยๆ อาจะใช้การอ้างอิงวัตถุ หรือต้นไม้ในบริเวณนั้นๆเพื่อเขียนร่างแผนที่ ไม่มีการกำหนดตำแหน่งที่ดินแน่นอน หรือบางกรณีใช้ออกในพื้นที่ที่ไม่มีระวางรูปถ่ายทางอากาศ ซึ่ง นส. 3 เป็นเอกสารที่นายอำเภอท้องที่เป็นผู้ออกให้ และนส. 3 ข เป็นหนังสือที่เจ้าหน้าที่ที่ดินเป็นออกออกให้แต่ยังไม่ได้รับรองอย่างเป็นทางการ
โฉนดที่ดินตราครุฑสีน้ำเงินหรือสีแดง หรือ ส.ป.ก.4-01
เอกสารสิทธิ์ให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฎิรูปที่ดิน หรือเอกสารที่ออกให้เจ้าของมีสิทธิในการทำเกษตรกรรม และการจัดที่อยู่อาศัยเพื่อเกษตรกรรม เจ้าของมีเพียงสิทธิในการครอบครองเพื่อใช้ประโยชน์ในการเกษตรเท่านั้น ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน
ใบจอง หรือ นส.2
หนังสือที่ทางราชการออกให้ประชาชนเพื่ออนุญาตให้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินเป็นการชั่วคราว ซึ่งผู้ที่มีใบจองต้องทำประโยชน์ในพื้นที่ดินมากกว่า 75% ของที่ดิน ภายใน 6 เดือนหลังได้รับใบจองและจะต้องทำประโยชน์แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 3 ปี
สิทธิทำกิน หรือ สทก.
หนังสือที่ราชการออกให้เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิทำกินในพื้นที่เขตป่าไม้ ซึ่งทางกรมป่าไม้จะเป็นผู้ออกให้ โดยผู้ถือสิทธิ์จะต้องทำประโยชน์ โดยกรมป่าไม้สามารถยึดคืนพื้นที่ดินได้ทันทีหากปล่อยรกร้างติดต่อกันเกิน 2 ปี
ใบชำระภาษีบำรุงท้องที่ หรือ ภ.บ.ท.5
ใบชำระภาษีบำรุงท้องที่ของผู้ที่อยู่อาศัย หรือใช้ประโยชน์ในพื้นที่มาแต่เดิม ไม่ใช่เอกสารสิทธิแสดงการครอบครองที่ดิน ที่ดินลักษณะนี้มักเป็นที่ดินมือเปล่า ที่ไม่มีเอกสารสิทธิใดๆทั้งสิ้น เป็นลักษณะของการอยู่อาศัย หรือใช้ประโยชน์สืบทอดกันมาเป็นรุ่นต่อรุ่น แต่จะไม่มีสิทธิในการครอบครองที่ดิน เจ้าของที่ดินตัวจริงคือ รัฐ
ใบไต่สวน หรือ น.ส. 5
หนังสือที่แสดงการสอบสวนเพื่อออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือแสดงสิทธิ์ที่ดินและให้จดทะเบียนสิทธิ์และนิติกรรมในใบไต่สวนได้ ไม่ใช่หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ แต่สามารถจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายที่ดิน และโอนให้กันได้ถ้าที่ดินมีใบไต่สวนและมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือเป็นการจดทะเบียนโอนมรดก
โฉนดที่ดินแบบใดสามารถซื้อ-ขายได้?
โฉนดที่ดินที่ซื้อ-ขายได้
โฉนดที่ดินตราครุฑสีแดง หรือ นส.4 :
สามารถซื้อ ขาย โอน จำนอง หรือค้ำประกันได้ทั้งหมด ทำให้นิยมซื้อขายมากที่สุด และมีมูลค่าด้านราคาสูงที่สุด ราคาของโฉนด นส.4 มีราคาสูงเมื่อเทียบกับเอกสารชนิดอื่นๆ โดยหากมีการซื้อขาย ผู้ซื้อ-ผู้ขายจะต้องไปทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดินเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ ต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินเท่านั้น มิฉะนั้นจะถือ เป็นโมฆะ
โฉนดที่ดินตราครุฑสีเขียว หรือ นส. 3 ก :
สามารถซื้อ ขาย โอน จำนองได้ โดยเมื่อมีการสอบเขตแล้ว เจ้าของสามารถนำหลักฐานไปขออกโนดได้ทันทีไม่ต้องรอรังวัดติดประกาศ 30 วัน
โฉนดที่ดินตราครุฑสีดำ หรือ นส. 3/นส. 3 ข :
สามารถซื้อ ขาย โอนได้ โดยการซื้อ-ขายจะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ที่ดินเข้ามาทำการรังวัดและติดประกาศเป็นระยะเวลา 30 วัน ถ้าไม่มีใครยื่นเรื่องขอคัดค้าน จึงจะสามารถทำเรื่องขอออกโฉนดได้
โฉนดที่ดินที่ซื้อ-ขายไม่ได้
โฉนดที่ดินตราครุฑสีน้ำเงินหรือสีแดง หรือ ส.ป.ก.4-01 :
ไม่สามารถซื้อ ขาย โอน จำนองได้ แต่สามารถใช้เป็นมรดกตกทอดได้ โดยทายาทจะต้องทำเกษตรกรรมเท่านั้น หรือให้เช่าเพื่อการเกษตรได้
ใบจอง หรือ นส.2 :
ไม่สามารถซื้อ ขาย โอน จำนองได้ แต่สามารถใช้เป็นมรดกตกทอดได้
สิทธิทำกิน หรือ สทก. :
ไม่สามารถซื้อ ขาย โอน จำนองได้ แต่สามารถใช้เป็นมรดกตกทอดได้
ใบชำระภาษีบำรุงท้องที่ หรือ ภ.บ.ท.5 :
ไม่สามารถซื้อ ขาย โอน จำนองได้ แต่สามารถใช้เป็นมรดกตกทอดได้
ใบไต่สวน หรือ น.ส. 5 :
ไม่สามารถซื้อ ขาย โอน จำนองได้ แต่สามารถใช้เป็นมรดกตกทอดได้
เป็นอย่างไรกันบ้างกับการทำความเข้าใจ 3 ข้อง่ายๆ ก่อนซื้อ-ขายโฉนดที่ดิน สำหรับใครที่ถือโฉนดที่ดินไว้อย่าลืมเช็คว่าตัวเองถือเอกสารลักษณะใด เพื่อใช้ประโยชน์จากที่ดินให้เต็มที่ หรือใครที่กำลังจะมองหาซื้อที่ดินก็อย่าลืมเช็คกันนะว่าที่ดินนั้นสามารถซื้อ-ขายได้หรือไม่เพื่อให้เรามีกรรมสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของโดยปราศจากข้อพิพาทอีกด้วย หลังซื้อแล้ว ควรทำรั้วให้ชัดเจนเพื่อแสดงอาณาเขตบุกรุกที่ดิน
ที่มา
kasetphan